ข่าวประชาสัมพันธ์

โรคระบบประสาทคุกคามคนไทยแนะกินดีมีประโยชน์ลดความเสี่ยง

Post Title

รายละเอียด

โรคระบบประสาทคุกคามคนไทยแนะกินดีมีประโยชน์ลดความเสี่ยง
 
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยป่วยด้วยโรคระบบประสาทเพิ่มขึ้น 
จากสถิติสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พบว่า โรคระบบประสาทที่พบมากที่สุดในปี 2557 
คือโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 24,399 ราย โรคทางเส้นประสาท จำนวน 17,319 ราย 
และโรคกล้ามเนื้อ จำนวน 13,445 ราย ตามลำดับ 
เห็นได้ว่าสมองและระบบประสาทเป็นอวัยวะที่มีความความสำคัญ
เนื่องจากสมองเป็นศูนย์รวมของระบบประสาทที่ควบคุมกลไกต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานร่วมกัน 
ควบคุมความคิด ความจำ และการเรียนรู้ ตอบสนองด้วยการสั่งงานไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย 
ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสมองหรือระบบประสาท ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว 
เพราะถ้าหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้
 
โรคระบบประสาทที่พบบ่อย คือ โรคหลอดเลือดสมอง ปัจจุบันพบเร็วขึ้นในกลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป 
มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และผู้สูบบุหรี่จัด 
อาการคือ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีกหน้า ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาข้างใดข้างหนึ่งพร่ามัว 
ปวดศีรษะเฉียบพลัน หากมีอาการควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุด 
 
สำหรับแนวทางลดความเสี่ยงโรค คือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารรสเค็มจัด
ไขมันสูง ควบคุมความดันโลหิต ไขมันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกาย 
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
 
โรคทางเส้นประสาท เช่น โรครากประสาทคอ เกิดจากการถูกกดเบียดหรือการอักเสบ 
ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวตามรากประสาท เช่น ปวดต้นคอร้าวไปที่สะบัก ไหล่ ชาแขน 
กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีการรับความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนจากการที่เลือดไปเลี้ยงรากประสาทลดลง 
การป้องกันคือ การหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่คอ เช่น การเคลื่อนไหวที่รุนแรงบริเวณคอ 
หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่มีการปะทะรุนแรง รวมไปถึงระวังอุบัติเหตุจากการขับยานพาหนะ เป็นต้น 
 
โรคกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากการที่หมอนรองกระดูกสันหลังคด
ออกมาจากแนวกระดูกสันหลังจนไปเบียดทับกับเส้นประสาทรอบๆ แนวกระดูกสันหลัง 
ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเป็นๆ หายๆ มีอาการปวดหลังร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง 
การดูแลเบื้องต้นผู้ป่วยควรฝึกใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันให้ถูกวิธี หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ
เลี่ยงการยกของหนัก งดการสูบบุหรี่ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง 
ออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบๆ หลัง และหน้าท้องจะสามารถบรรเทาอาการของโรคได้
 
นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท 
เช่น ปวดศีรษะมาก อาเจียน และชาตามมือตามเท้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที 
นอกจากนี้ควรมีการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะมีผลกระทบบริเวณศีรษะ และไขสันหลัง
เพราะอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง เช่น ข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน ทานผักที่บำรุงสายตา 
ไม่อ่านหนังสือในที่มืด พักผ่อนให้เพียงพอ มีการผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เดินเล่น 
หรือทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว จะป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคดังกล่าวได้.
 
 
แหล่งที่มา : http://www.ryt9.com/s/tpd/2221393